Tactical Analysis : เทศกาลล้างเลือดกับ “Atalanta” งานนี้มีเละกันไปข้าง

เจาะAtalanta คู่แข่งแมนยูแบบหมดไส้หมดพุงตั้งแต่จุดเริ่มต้น จุดแข็ง รวมถึง"จุดอ่อน" ที่รูปเกมเป็นไปได้ทั้งการถล่มเขาเละเทะ หรือโดนเขาถล่มกระจุย ไม่เขาก็เรานี่ล่ะ!!!!
ซีซั่นที่แล้วในอิตาลี อินเตอร์มิลานกลับมาเป็นแชมป์เซเรียอาได้อีกครั้งหลังจากครั้งสุดท้ายในฤดูกาล 2009/10 และยังเป็นสคูเดตโต้ที่ 19 ในประวัติศาสตร์สโมสรหลังจากที่ต้องอดทนรอมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางความผิดหวังมากมาย
การคว้าแชมป์ของพวกเขายังเป็นการหยุดความอหังการของยูเวนตุสในฟุตบอลอิตาลีเอาไว้แค่นั้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม อีกทีมหนึ่งที่ทำผลงานได้น่าประทับใจในฤดูกาลที่ผ่านมา ถ้าจะมีสักทีมก็คงหนีไม่พ้น “Atalanta B.C.” อย่างแน่นอน และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา คู่ต่อสู้ของแมนยูไนเต็ดในรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก กรุ๊ป F
การยกระดับขึ้นมาจากกลางตาราง [2016/17]
เมื่อยามที่ จาน ปิเอโร กาสเปรินี่ เข้ามาคุมอตาลันต้าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2016 สถานะของทีมย่ำแย่มาก พวกเขาติดแหงกเป็นทีมกลางตาราง และไม่มีนักเตะคุณภาพดีในตำแหน่งสำคัญๆ เมื่อเริ่มต้นซีซั่น พวกเขาแพ้สี่เกมจากห้านัดแรก แต่การชนะนาโปลี อินเตอร์ และโรม่าได้ เริ่มบ่งบอกว่าพวกเขามีความอันตรายอยู่ในตัวแค่ไหน
ภายใต้การทำทีมของกาสเปรินี่ พวกเขาค่อยๆพัฒนาขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งเมื่อจบซีซั่น ด้วยโชคหลายๆอย่าง ทีมจบฤดูกาลได้อย่างแข็งแกร่งในอันดับที่ 4 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์สโมสรของอตาลันต้าเลยทีเดียว
อตาลันต้าในยุคของชายผู้เป็นอดีตโค้ชทีมเยาวชนของยูเวนตุสรายนี้เข้าไปเล่นในยูโรปาลีกได้ถึงรอบ 32 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปีเลยทีเดียว
ซีซั่นนั้นมีนักเตะพรสวรรค์จากอะคาเดมี่ขึ้นมามากมาย และยังมีตลาดซื้อขายนักเตะที่ดีด้วย มีการเปลี่ยนแปลงปรัชญาการเล่นของทีมอย่างชัดเจน กลายเป็นทีมที่เล่นได้อย่างน่าตื่นเต้น เป็นฟุตบอลแทคติกที่มีการสร้างสรรค์อย่างดีเยี่ยมในยุโรป
ขณะเดียวกัน กัปตันอย่าง อเลฮันโดร โกเมซ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเตะที่ฟอร์มยอดเยี่ยมที่สุดในซีซั่นนั้น ก็จบฤดูกาลด้วยการกดไป16ประตู
ฤดูกาล 2017/18
ฤดูกาลนี้พวกเขาก็ยังดีขึ้นจากการทำทีมของกาสเปรินี่ ประสบความสำเร็จในโคปปาอิตาเลียด้วยการเข้าถงรอบรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นปีที่มีผลการแข่งขันแตกต่างกันในแต่ละรายการของพวกเขา ซึ่งในลีกพวกเขาจบอันดับ 7 และได้โควตาฟุตบอลยุโรปอีกครั้ง แม้จะต้องเสีย Andrea Conti, Franck Kessie และก็ Roberto Gagliardini ก็ตาม แต่สโมสรยังคงนำนักเตะหน้าใหม่เข้าสู่ทีมมาทดแทนกันได้
Josip Ilicic, Andreas Cornelius, Timothy Castagne และ Marten de Roon ถูกซื้อเข้ามาเสริมแกร่งให้กับทีม ในขณะเดียวกันนักเตะเยาวชนอย่าง Mattia Caldara, Andrea Petagna และ Bryan Cristante ก็ขึ้นมาประสบความสำเร็จภายในระบบการเล่นของกาสเปรินี่เช่นกัน
การบุกไปอัดเอฟเวอร์ตันเละเทะ 5-1 คากูดิสันปาร์ค, ยันเสมอยูเวนตุสอย่างสุดระทึก 2-2 ในปีนั้นคือไฮไลต์สำคัญของซีซั่นดังกล่าว
ฤดูกาล 2018/19
ในปีนี้กาสเปรินี่พาทีมขึ้นแตะจุดสูงสุดครั้งใหม่ ด้วยการที่สามารถจบอันดับ 2 ในลีกได้ และแทคติกของทีมก็สร้างปัญหาให้กับคู่แข่งได้ชะงัดมากๆ อตาลันตากลายเป็นทีมที่ยิงมากที่สุดในเซเรียอา ด้วยจำนวน “77 ประตู” จากการเซ็นสัญญาคว้าตัว Duvan Zapata เข้ามาและกระหน่ำไป 23 ดอกเน้นๆ
อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ตกรอบยูโรปาลีกมาซะก่อนในเกมเพลย์ออฟรอบคัดเลือก ด้วยการพ่ายจุดโทษต่อ FC Copenhagen ไป ทำให้พวกเขาไม่ได้ลงเตะในยูโรปาลีก แต่ในบอลด้วยโคปปาอิตาเลีย ก็เข้าไปถึงรอบชิงได้ทีเดียว จากการตบยูเวนตุส 3-0 มาในรอบ8ทีมสุดท้าย ก่อนที่จะทะลุเข้าไปถึงรอบชิง แต่แพ้Lazioซะก่อน ไม่งั้นพวกเขาก็จะได้แชมป์มาประดับบารมีแล้ว
ถือว่าผลงานในรายการต่างๆ นับตั้งแต่ยุคกาสเปรินี่เข้ามา ก็มีลุ้นคว้าแชมป์เรื่อยๆอยู่เหมือนกัน
ฤดูกาล 2019/20
พวกเขารักษาความต่อเนื่องในลีกได้เป็นอย่างดีด้วยการจบอันดับ3ได้สำเร็จ และยิงได้ 98 ประตู ซึ่งมากกว่าทีมอื่นๆในลีกถึง 17 ประตูเลยทีเดียว!!! และคะแนนในลีกก็พัฒนาขึ้นด้วย โดยที่นักเตะเด่นๆอย่าง Gomez ก็ทำ 16 แอสซิสต์ในเซเรียอา โดยมีอิลิซิช มูเรียล และ ซาปาต้า ที่ทำประตูเกิน15ลูกในลีก ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นสโมสรที่สองในประวัติศาสตร์ที่มีนักเตะในทีมถึง “สามคน” ที่ทำประตูได้มากกว่า15ลูกในฤดูกาลเดียว ตามหลังยูเวนตุสที่เคยทำได้มาก่อน
ยิ่งเหลือเชื่อไปกว่านั้นอีกเมื่อพวกเขาทะลุถึงรอบน็อคเอ้าท์ของแชมเปี้ยนส์ลีกในรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร เป็นปีที่มองเห็นความโดดเด่นของนักเตะตัวใหม่ๆที่ย้ายเข้ามาอย่าง Luis Murial และ Ruslan Malinovskyi ที่ทำผลงานได้อย่างดี
ฤดูกาล 2020/21
การทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมภายใต้การคุมทีมของกาสเปรินี่ อตาันต้าเริ่มต้นซีซั่นที่แล้วด้วยความคาดหวังที่สูงขึ้น และพวกเขาก็ทำผลงานได้ในระดับสูงอีกครั้ง การันตีการได้ไปแชมเปี้ยนส์ลีกตั้งแต่ยังไม่จบฤดูกาล และพวกเขาก็โดดเด่นเช่นเคยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคของ “เกมรุก” กับการยิงประตูได้ถึง 90 ลูก จากLuis Muriel ที่เป็นผู้ยิงประตูได้สูงสุดในทีมถึง 22 ลูก
แม้ว่าจะต้องเสียตัวเก๋าอย่าง Alejandro Gomez ที่ย้ายออกไปอยู่เซบีญ่าในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว แต่ยังไงก็ตามพวกเขาก็ยังรักษาฟอร์มการเล่นและเก็บผลการแข่งขันที่ดีได้เหมือนเดิม
โคปปาอิตาเลียพวกเขาเอาชนะแชมป์เก่าอย่างนาโปลีได้สำเร็จ และลุยเข้าถึงรอบชิงไปเจอกับยูเวนตุสอีกครั้ง แต่คราวนี้พวกเขาแพ้ทีมม้าลายไปอย่างสุดระทึก 2-1
ส่วนในUCL อตาลันต้าโดนเรอัล มาดริด เขี่ยตกรอบ ในรอบน็อคเอ้าท์16ทีมสุดท้าย
ชัดเจนว่าวิงรับผิดชอบสุดริมเส้น ส่วนมิดฟิลด์จะเน้นรักษาพื้นที่
กลางรุกจะรันขึ้นหน้าร่วมกับกองหน้า
Tactics (แทคติก)
เรื่องของแทคติกอตาลันต้านั้น มีความคล้ายคลึงอย่างมากที่พวกเขาเล่นในลักษณะเดียวกันกับที่บิเอลซ่าใช้กับลีดส์ ยูไนเต็ด โดยที่เน้นในเรื่องของบอลบุกเป็นหลัก ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำทีมของบิเอลซ่า โดยกาสเปรินี่นำมาใช้ในระบบของเขาเอง
แต่ว่ากุนซือชาวอิตาเลียนผู้นี้ได้ใส่ความซับซ้อนให้กับยุทธวิธีของตัวเองเข้าไปอีก และทำให้มัน”ได้ผล”เพิ่มมากขึ้น
แทนที่จะบุกแค่อย่างเดียว แต่พวกเขาใส่ใจกับการใช้ “ระบบ” ที่จะเน้นการเซ็ตทรงสามเหลี่ยม หรือทรงไดมอนด์เป็นอย่างมากในแผงมิดฟิลด์ ซึ่งการเซ็ตทรงเช่นนี้ส่งผลทำให้ทีมมีแทคติกที่ยืดหยุ่นและครองบอลได้อย่างเหนียวแน่นในพื้นที่สำคัญโดยที่จะ “ไม่เสียบอลให้คู่แข่งง่ายๆ”
นึกภาพกันง่ายๆ พวกบอลระบบเน้นการปรับshapeยืนตำแหน่งแล้วสร้างสามเหลี่ยม หรือวงเล่นลิงคู่ต่อสู้ขึ้นมานั่นเอง ซึ่งพวกเขาเล่นกันในลักษณะนี้ แม้ว่าจะมาในระบบ “หลังสาม” ก็ตาม แต่พวกเขาก็เซ็ตระบบการเล่นขึ้นมาจนได้
ระบบของพวกเขาทำงานยังไงบ้าง ไปดู
Atalanta นั้นโปรดปรานในการเล่นด้วยทรง “3-4-1-2” หรือไม่ก็ “3-4-2-1” โดยที่การเลือกแผนนั้นจะขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้ที่ต้องเจอเป็นหลัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ในการเจอกับซาสซูโอโล่ พวกเขาใช้ 3-4-1-2
แต่เมื่อมาเจอกับยูเวนตุส พวกเขาเล่น 3-4-2-1 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแทคติกดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาของฟุตบอลโดยปกติทั่วๆไปที่ทีมจะต้องมีการปรับแผนอยู่แล้ว (เขียนมาแล้วมันตะหงิดๆกับทีมตัวเองยังไงไม่รู้!) แต่หากว่าลงลึกไปดูใน “รายละเอียด” แล้วจะต้องเซอไพรส์แน่นอนถึงวิธีในการปรับตัวเล่นในแดนหน้าสามคนของพวกเขาอย่างน่าสนใจและมีความซับซ้อนอยู่
ตอนเจอซาสซูโอโล่ ดาวยิงชาวโคลัมเบียอย่างดูวาน ซาปาต้านั้น จับคู่กับ รุสลาน มาลินอฟสกี้ด้วยการเป็นหน้าคู่ฟร้อนท์ทู โดยมี Matteo Pessina มิดฟิลด์แชมป์ยุโรปรายล่าสุดของทีมชาติอิตาลี เล่นอยู่ด้านหลังพวกเขาในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุก
ในขณะที่ตัวผู้เล่นอย่าง อเลฮันโดร โกเมซ, โจซิป อิลิซิช และ “มาริโอ ปลาสลิด” (Mario Pasalic) คือนักเตะคนสำคัญของแทคติกกาสเปรินี่ด้วยเช่นกัน
The Scope of the Formation (ขอบเขตของทรงการเล่น)
ประเด็นเรื่องแอเรียขอบเขตการเล่นของทีมในปัจจุบัน ก็ยังค่อนข้างคล้ายคลึงกับซีซั่นก่อนๆ ตอนที่กาสเปรินี่เคยใช้ อเลฮันโดร โกเมซ กับ โจซิป อิลิซิช ซึ่ง โกเมซนั้นทำได้ดีในระบบนี้โดยการเล่นอย่างอิสระในพื้นที่ตรงกลางด้านใน และมักจะถูกใช้งานในการเป็นตัวซัพพอร์ต และได้รับหน้าที่ที่หลากหลายมากๆ
แต่เมื่อโกเมซไม่อยู่กับทีมแล้ว คนที่มาทำหน้าที่แทนก็คือ “มัตเตโอ เปสซิน่า” นั่นเอง ความยืดหยุ่นและการสลับตำแหน่งยืนในการเล่นโจมตีคู่แข่ง ทำให้การเล่นของพวกเขาไม่ถูกจำกัด และขยายสโคปออกไปกว้างมากในการหาพื้นที่ถ่างออกไปถึงริมเส้น และสร้างสรรค์เกมทะลุช่องได้อย่างรวดเร็ว
“สามเหลี่ยมในแดนหน้า” ของอตาลันต้านั้นค่อนข้างที่จะ unique มากๆ และน่าดูชมอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาทำเกมกันได้อย่างดุดันและได้ผลดี แต่ยังช่วยให้ผู้เล่นเปลี่ยนบทบาทตัวเองได้อย่างรวดเร็วภายในชั่วอึดใจ
Luis Muriel อาจจะเป็นตัวหลักของแดนหน้าสามตัว ด้วยสถิติ 22 ประตู 9 แอสซิสต์ ขณะที่ Zapata นั้นยิงไป 19 ประตู กับอีก 13 แอสซิสต์ ส่วน Malinovskyi ทำไป 10 ประตู 12 แอสซิสต์ มีหลายๆตัวเลยที่สามารถทดแทนการเล่นของ อิลิซิช ที่หายไปได้ ทั้งประตูและแอสซิสต์ต่อซีซั่น สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเน้นทำงานด้วยกันเป็นทีม มากกว่าที่จะต่างคนต่างเล่นแบบตัวใครตัวมัน
(เพราะเวลาสถิติขึ้นมา ก็ขึ้นมาด้วยกันทั้งแผง ทั้งมูเรียล ซาปาต้า มาลินอฟสกี้ ทำผลงานได้ใกล้เคียงกันมากในแง่ตัวเลข มันชัดเจนว่านี่คือบอลระบบที่ช่วยกันยิง ช่วยกันจ่ายนั่นเอง)
ความโดดเด่นตรงนี้ทำให้พวกเขาสร้างสรรค์โอกาสยิงเฉลี่ยถึง 16.4 ครั้งต่อเกมในซีซั่นที่ผ่านมา
Style of Play (สไตล์การเล่น)
คุณลักษณะที่แข็งแกร่งที่สุดของอตาลันต้าคือเกมบุกที่อยู่ในทรงการยืนที่เหมือนจะใส่ตัวรับเยอะในทรงเน้นรับ(หลังสาม) ภาคของการ build-up play นั้น “เรโม่ ฟรอยเลอร์” มักจะได้รับหน้าที่ให้เข้าไปคุมพื้นที่ว่างที่เกิดจากผู้เล่นเกมรุกในแผงมิดฟิลด์ ทีมทำเกมบุกมักจะฟอร์มตัวด้วยการมีนักเตะราว 4 หรือ 5 คนที่ทำเกมรุกร่วมกัน คล้ายคลึงกับระบบของบิเอลซ่ามากๆที่โหลดนักเตะขึ้นมา ซึ่งทีมก็จะชิฟท์ทรงการเล่น จาก 3-4-1-2 ดันเกมขึ้นมาสูงกลายเป็น “3-2-5” (วิงสองข้างดันเกมขึ้นไปเป็นปีกร่วมกันกับสามตัวรุกแดนหน้า) ซึ่งเป็นแผนที่รับมือยากมากๆเวลาป้องกัน
แม้แต่จะงัดเอา “รถบัส” ระดับสิงห์เจ้าถนน Road Roller ขึ้นมาขวางหน้าประตูก็ตามในลักษณะของการเซ็ต “low block” ใส่เกมบุกของอตาลันต้า ก็ยัง “ยากส์” อยู่ดีที่จะอุดเกมรุกของพวกเขาอยู่
ขนาดรับลึกยังยาก แล้วยูไนเต็ดจะต้านอยู่หรือไม่.. เรารู้สึกกลัวในใจพอสมควร เพราะอตาลันต้านี่ขึ้นชื่อจริงๆ
สิ่งที่ทำให้เกมบุกของพวกเขาอันตรายอย่างแท้จริงคือ “เกมจากริมเส้น” ในปีกด้านข้างสองฝั่ง อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เรื่องของความอิสระในขอบเขตการเล่น พวกเขาสร้างสรรค์เกมรุกที่มีจินตนาการสูง และทำได้ในหลากหลายรูปแบบ
โดยทั่วๆไปแล้วทีมต่างๆก็จะใช้แนวรับ ตัวริมเส้น หรือไม่ก็ โฮลดิ้งมิดฟิลด์ในการตั้งเกมบุกขึ้นมาจากด้านหลัง
แต่อตาลันต้านั้นเน้นหนักที่การขึ้นเกมจากริมเส้นสองฝั่งมากกว่าการขึ้นเกมจากมิดฟิลด์
เกมรุกของทีมในซีซั่นที่ผ่านมา พวกเขาบุกจากฝั่งซ้ายมากถึง 38% ในขณะที่ 35% ขึ้นเกมทางขวา นั่นแปลว่าตรงกลาง พวกเขาขึ้นเกมมาเพียงแค่ 27% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเกมริมเส้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เฉลี่ยกันแล้ว พวกเขาขึ้นเกมริมเส้นมากถึง 73% ต่อการเล่นตรงกลาง 27%
เห็นชัดว่า เกมริมเส้น และการขึ้นเกมจากซ้ายขวา คืออาวุธสำคัญในการบุกใส่คู่แข่งของพวกเขา
ด้วยกลยุทธ์การพาบอลขึ้นหน้าเช่นนี้ทำให้พวกเขามีความอันตรายมากทั้งด้านใน และรอบๆกรอบเขตโทษ ซึ่งจุดที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาเล่นโดยมีการได้สัมผัสบอลในกรอบเขตโทษคู่แข่งมากกว่าใครๆ และทำผลงานเฉลี่ยด้วยการได้ยิงถึง 10.8ครั้งต่อเกม
Importance of Wingers (ให้ความสำคัญกับตัวริมเส้น)
ตัวริมเส้นมีบทบาทสำคัญมากๆในระบบนี้ พวกเขาเซ็ตทรงไดมอนด์ขึ้นมากับผู้เล่นที่เป็นตัวริมเส้น ด้วยการมีทางเลือกในการจ่ายบอลให้กับวิงของพวกเขาอยู่สองสามตัวเสมอ ทำให้การทำเกมริมเส้นของอตาลันต้าไม่เคยตีบตัน เพราะมีตัวรับบอลช่วยตลอดเวลา
เมื่อวิงของพวกเขาเล่นร่วมกับฟร้อนท์ทรีที่เป็นตัวรุกสามคนด้านหน้าแล้ว พวกเขาจะมีความได้เปรียบในด้าน “จำนวนผู้เล่น” ในแต่ละพื้นที่ของสนามอยู่ตลอดเวลา (เพราะเซ็ตไดมอนด์4คนตลอดทุกแอเรีย ทีมจะสร้างความเหนือกว่าได้ตลอดเวลา คล้ายๆกับปรัชญาของPositional Play)
Malinovskyi, Zapata หรือไม่ก็ Muriel มักจะขยับตำแหน่งตัวเองไปช่วยเหลือปีกทั้งสองข้างอยู่ตลอด ในยามที่ปีกกำลังเสียเปรียบพื้นที่อยู่
ทรงไดมอนด์จะถูกเซ็ตขึ้นมาในแดนของคู่แข่งทันทีเมื่อวิงแบ็คเติมขึ้นมาร่วมกับเกมรุกของทีม
การเล่นเช่นนี้ช่วยสร้างช่องว่างให้นักเตะทะลุุขึ้นในฮาล์ฟสเปซได้ และผ่านบอลขึ้นมาได้ด้วยการขยายขอบเขตการเล่นให้กว้างมากยิ่งขึ้น สเปซก็จะมากตามไปด้วย
ค่าเฉลี่ยการจ่ายบอลของพวกเขายังสูงถึง 537.1 ครั้งต่อเกม ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าอตาลันต้าเล่นด้วยบอลระบบกันอย่างไร และนั่นจะเป็นงานโคตรหนักของแมนยูไนเต็ดอย่างแน่นอนหากว่าตัวไล่บอลของปีศาจแดงไล่ไม่จน
ภาพที่นักเตะแมนยูไนเต็ดจะหาบอลไม่เจอ อาจจะเกิดสูงได้ ในยามที่อตาลันต้ายังไม่เสียบอล ดังนั้นหากจะเล่นเพรสซิ่งใส่บอลระบบเช่นนี้ ควรคิดให้ดีๆ
หากโอเล่ทะลึ่งอยากจะฮึกเหิมเล่นเพรสซึ่งขึ้นมาในเกมนัดนี้ สงสัยจะงานช้าง
นักเตะอย่าง “โรบิน โกเซ่นส์” คือวิงในระบบนี้ที่เป็นตัวอย่างอันดีของการเล่นในอุดมคติของระบบดังกล่าว ด้วยการเล่นที่รวดเร็ว การใช้บอลสั้น ดึงบอลไว้ในการครอบครอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถเจาะคู่แข่งได้ง่ายมากในเกมริมเส้น
แมนยูไนเต็ดมีสิทธิ์โดนเจาะริมเส้นสองฝั่งสูงมากๆหากว่าหาบอลด้านข้างสนามไม่เจอ
นอกจากนี้การที่ทีมไล่กดดันคู่แข่งอย่างมั่นคงและแน่นอน ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะชิงบอลกลับมาสู่การครอบครองได้เร็วมาก
ความยืดหยุ่นคือสิ่งสำคัญสำหรับสไตล์การเล่นเช่นนี้ โดยวิงแบ็คสองฝั่งจะขึงเกมด้านข้างไว้ตลอดเวลา และสอดขึ้นด้านหลังแนวเกมรับของคู่ต่อสู้ (defensive line) เพื่อที่จะขึ้นไปแล้วสามารถจ่ายบอลเป็นพวกบอลครอสเรียดเข้ากลาง (low crosses) หรือจ่ายตัดกลับหลัง (cut back) ใส่คู่แข่งได้ตลอดเวลา
เขียนไปเขียนมาก็เริ่มกลัว เพราะนี่มันพื้นที่จุดอ่อนแมนยูไนเต็ดชัดๆ นี่ก็เพิ่งโดนเลสเตอร์เล่นงานลักษณะนี้มาในลูก 3-2
Defensive Problems (ปัญหาในเกมรับของพวกเขา)
เซ็นเตอร์แบ็คของอตาลันต้านั้นมีบทบาทสำคัญ ด้วยความสามารถในการเล่นกับบอลที่ดี และการจ่ายบอลขึ้นหน้าในระบบนี้ (ซึ่งแมนยูไนเต็ดก็มีตัวball-playingเช่นกัน นั่นก็คือแมกไกวร์ กับ ลินเดอเลิฟนี่แหละ) แต่การเล่นในลักษณะนี้ก็ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงในภาคเกมรับด้วย ปัญหาคืออตาลันต้ามักจะเปิดช่องในจุดวิงแบ็ค ที่เกิดจากการเติมพวกเขาไปใช้ประโยชน์ในแดนหน้า ทำให้หลายๆครั้งเพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว คู่มิดฟิลด์สองคนอย่าง เดอรูน หรือ ฟรอยเลอร์ ก็จะต้องถ่างออกมายืนแทนที่วิงแบ็คดังกล่าว
เช่นเดียวกัน การตั้งโซนป้องกันของอตาลันต้าก็ใช้การ “Man-Marking” ด้วย ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อพวกเขาเองเหมือนกัน เพราะเวลาที่เล่นเป็นฝ่ายป้องกัน อตาลันต้ามักมักจะมีการป้องกันด้วยระบบการใช้ “High Pressing” ในลักษณะของ “man-to-man” เข้าบีบนักเตะคู่ประกบ คู่ใครคู่มัน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเองอยู่
การเซ็ตฟอร์มป้องกันแบบแมนมาร์คเช่นนี้นั้น จะทำให้ “กองหลัง” ถูกดึงออกจากตำแหน่งอยู่บ่อยๆ(เนื่องจากเล่นเกมรับแบบประกบไล่ตามตัวเป้าหมาย) เช่นนี้แล้วจึงทำให้อตาลันต้ามักจะมีช่องว่างให้โดนคู่แข่งเจาะใส่ช่องว่างที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ
นักเตะแมนยูไนเต็ดที่เล่นช่องได้ดีมีใครบ้าง? แน่นอนว่า บรูโน่ แฟร์นันด์ส ตัววิ่งสอดช่อง นำหัวขบวนมาคนแรก ที่จะทำสกอร์ได้ในเกมเจอกับอตาลันต้าแน่ๆจากการวิเคราะห์ของเรา
นักเตะอีกคนที่น่าจะเป็น “จุดดับของอตาลันต้า” คือเทพเจ้าแห่งCounter-Attackประจำทีมอย่าง “ด็อกเตอร์ มาร์คัส แรชฟอร์ด MBE” นั่นเอง เขาคืออีกคนที่ถือเป็นของแสลงของบอลMan-Marking ของอตาลันต้าด้วย ด็อกเตอร์แรชน่าจะเป็นอีกคนที่หากได้ลงสนาม คงจะเล่นงานพวกเขาได้เละเทะด้วย “ความเร็ว” ที่สูงกว่ามากได้
สปีดความเร็ว คือสิ่งที่นักเตะแมนยูไนเต็ดมีเหนือคู่แข่งทีมอื่นๆเยอะ เพราะเบสของทีมมีแต่นักเตะวัยรุ่นอายุน้อยทั้งนั้น ด้วยความเร็วและทักษะ จะสามารถเอาชนะเกมประกบตัวต่อตัวอันเป็นพื้นฐานเกมรับของอตาลันต้า และกาสเปรินี่ได้
และอีกคนที่น่าจะเป็นไม้ตายเจาะอตาลันต้าได้ ก็คือ “ดอนนี่ ฟานเดอเบค” นั่นเอง ซึ่งบทความต้นทางนี้ไม่ได้ระบุถึงแมนยูไนเต็ดมาด้วย แต่ผู้เขียนวิเคราะห์เอาไว้มันก็ตรงกันกับที่เรามองว่า เกมแมนมาร์คแบบนี้ ตัวที่น่าจะเด่นและเล่นงานอตาลันต้าได้ ก็มีสองคนนี้แหละที่เป็น “นักเจาะช่องตัวยง” ของแมนยูไนเต็ด
บอลคิลเลอร์พาส แทงช่อง วิ่งสลับตำแหน่งกันน่าจะใช้ได้ผลกับอตาลันต้าในเกมนี้ น่าสนใจว่าโอเล่จะส่งหมากตัวไหนลงมาในกระดานนี้บ้าง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อตาลันต้านั้นก็มักจะพยายามไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นด้วยการที่พวกเขาจะพยายามเป็นฝ่าย “ครองบอล” ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
แต่ก็ไม่ช่วยอะไร
เพราะปัญหาของอตาลันต้าที่ผ่านมาตลอดนั้น พวกเขาก็ยังคงโดนเล่นงานด้วยการใช้ “counter-attack”, บอลแทงช่อง และรวมถึงการโดนส่องระยะไกลอยู่ตลอดเวลา ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อพวกเขาเสียการครองบอล (ซึ่งเป็นของถนัดของแมนยูไนเต็ดซะด้วย)
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในเกมกับเจนัวปีก่อน ที่นำอยู่ถึง 4-0 ก่อนที่จะเสียประตูทีเดียวสามลูกรวด ซึ่งการเสียประตูถึง 47 ลูก ซึ่งมากที่สุดในบรรดาทีมท็อปไฟว์ในเซเรียอาฤดูกาลที่แล้ว มันค่อนข้างชัดเจนว่าพวกเขามีปัญหาที่เกมรับมากกว่าทีมชั้นนำอื่นๆในอิตาลีจริงๆแม้จะยิงได้เยอะสุดก็ตาม
อนาคตของทีม
อตาลันต้าสามารถดึงนักเตะพรสวรรค์จากระดับเยาวชนขึ้นมาเข้าระบบการเล่นของกาสเปรินี่ได้อย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ “ถ้วยรางวัล” ที่ควรจะต้องมีบ้าง อย่างที่เขียนมาทั้งหมดแล้วว่า อตาลันต้าหลุดเข้ารอบลึกๆในบอลถ้วยได้หลายต่อหลายครั้ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ซึ่งเป็นสิ่งที่กาสเปรินี่คงจะต้องเน้นหนักในฤดูกาลนี้
ด้วยนักเตะที่ทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ และเก็บผลลัพธ์กันได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันที่พวกเขาจะคว้าถ้วยรางวัลมาให้ได้บ้างในอนาคต
และทั้งหมดนี้ คือ Atalanta ภายใต้การคุมทีมของ จาน ปิเอโร กาสเปรินี่
เรามาดูกันซิว่า สองนัดที่ต้องเจอกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แมนยูจะสามารถเล่นงานจุดอ่อนทีมที่มีระบบการเล่นคล้ายคลึงกับ “ลีดส์ ยูไนเต็ด” ที่โดนเราระเบิดถังขี้คาโอลด์แทรฟฟอร์ดถึง 11-3 ได้หรือไม่
หรือว่า จะกลายเป็นยูไนเต็ดที่โดนอัดเละเทะ พร้อมกับส่งโซลชาลงไปนอนคุยกับรากมะม่วงแทน
อีกไม่นานนี้ก็คงจะได้เห็นผลลัพธ์แล้ว แต่ที่แน่ๆ มันจะต้องเป็นเกมเปิดแลกกันที่น่าดูชมอย่างแน่นอน
งานนี้มีถล่มกระจุยกระจายกันไปข้างนึงแน่ๆ
แต่จะเป็นฝั่งไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน..!!!!
-ศาลาผี-
Reference
https://www.esdfanalysis.com/match-analysis/atalanta-tactical-analysis/
ขอบคุณเนื้อหาจาก Thsport.com